ทักทาย

ยินดีต้อนรับสู่บล็อกของเราค่ะ

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

โรคที่เกี่ยวกับหัวใจ (Acute Coronary Syndrome) เป็นโรคที่มีความอันตรายต่อชีวิตเป็นอย่างมาก อาการของโรคหัวใจก็สังเกตได้ยากเพราะตัวผู้ป่วยเองอาจคิดว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาการของโรคธรรมดาอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับโรคหัวใจเช่น เมื่อเกิดอาการเจ็บหรือจุกบริเวณหน้าอกมักจะคิดว่าเป็นเพราะการทำงานหนักไปหน่อยหรือเครียดจนมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป แต่ที่จริงแล้วนั่นคืออาการเริ่มต้นของโรคหัวใจซึ่งมีระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้หลายระดับเช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหัวใจวายหรืออาจเกิดภาวะหลอดเลือดแดงอุดตันซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ว่าจะยังไงก็เป็นโรคอันตรายที่สามารถคร่าชีวิตของคนที่เป็นได้โดยไม่รู้ตัว

วิธีสังเกตอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด(Myocardial infarction)คือ อาการเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยง่ายเมื่อต้องใช้กำลัง ลักษณะของการเจ็บหน้าอกจะเจ็บแบบรู้สึกจุกแน่นที่กลางอก บางทีจะเจ็บร้าวไปตามไหล่ซ้ายด้านในของแขน กราม คอ ขากรรไกรหรือบริเวณหลัง อาการเจ็บหน้าอกส่วนมากจะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดมาเลี้ยงมากกว่าเวลาปกติเช่น เดินอย่างเร่งรีบ วิ่ง ออกกำลังกาย เดินขึ้นบันไดหรือแม้แต่ขณะกำลังเบ่งเพื่อถ่ายทุกข์ในห้องน้ำ  ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอกมากขึ้นหลังจากกินอาหารอิ่ม อาบน้ำเย็นหรือสัมผัสกับอากาศเย็น ในรายที่เป็นมาก(อาการหนัก) อาจมีอาการเจ็บหน้าอกขณะอยู่เฉยๆหรือกำลังนอนหลับ อาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่รู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อยและอาการเหล่านี้จะทุเลาเมื่อเวลาผ่านไปสักครู่หนึ่ง

อาการเจ็บหน้าอกตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและไม่ทราบสาเหตุ อาการจะเกิดขึ้นมาสักครู่หนึ่งแล้วก็หายไปเองแล้วก็เป็นขึ้นมาอีก อาการเจ็บหน้าอกควรได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดเพราะหากตรวจพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเสียตั้งแต่เนิ่นๆก็ยังมีโอกาสควบคุมอาการของโรคได้ไม่ยากนักเพราะเมื่อเริ่มมีอาการในระยะแรกจะเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจเริ่มมีปัญหาคือมีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอแต่กล้ามเนื้อหัวใจยังไม่ถึงกับเสียหายมาก (ตาย)

หากผู้ป่วยละเลยไม่หาทางป้องกันและรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการของโรคจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆจะสังเกตได้จากอาการเจ็บหน้าอกที่เคยเป็นๆหายๆก็จะมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น ที่อันตรายที่สุดคือหากเกิดภาวะหลอดเลือดแดงอุดตันจะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลันหรือที่เรียกกันว่า หัวใจวาย (Congestive heart failure) คือหัวใจหยุดเต้นไปเฉยๆ ซึ่งจะมีผลรุนแรงต่อผู้ป่วยถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก แพทย์จะซักประวัติรวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ  การตรวจร่างกายจะตรวจทุกระบบโดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด มีทั้งการวัดความดันโลหิต ฟังการเต้นของหัวใจ การเอ็กซเรย์ทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) หากแพทย์ทำการตรวจแล้วสงสัยว่ากล้ามเนื้อและหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเริ่มมีปัญหาก็อาจต้องทำการสวนหลอดเลือดหัวใจและฉีดสีเพื่อประเมินความรุนแรงของโรค โรคหัวใจเป็นโรคที่อันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดโดยการตรวจสุขภาพเช็คร่างกายเป็นประจำทุกปีและสังเกตตัวเองให้ดีหากพบว่ามีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับโรคหัวใจเช่น การเจ็บหน้าอกให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างละเอียด
 
ขอบคุณข้อมูลจาก